ช่วงนี้ฝนตกตั้งแต่เช้ายันเย็นไม่เว้นแต่ละวัน แม่ก้อยดูข่าวเห็นว่าที่ชลบุรี ฝนตกจนน้ำท่วมสูงขนาดรถยนต์ ถูกน้ำท่วมจนมิดเลยค่ะ แม่ก้อยสัมผัสถึงอากาศและเม็ดฝนแล้ว ก็หวั่นใจกับสุขภาพของลูก โชคดีที่อาทิตย์นี้โรงเรียนของพี่ตังเมปิดเทอม 1 อาทิตย์ เพราะพี่ตังเมเรียนชั้นเตรียมอนุบาลทำให้การเปิด – ปิด ภาคเรียนไม่เหมือนคนอื่นค่ะ
ทำให้แม่ก้อยนึกย้อนหลังไปเมื่อครั้งหนึ่งพี่ตังเมไม่สบายมาก เริ่มต้นจากการเป็นไข้สูง 39.00-40.00 องศา และไม่มีอาการไอ จาม น้ำมูก ท้องเสีย ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ไข้ที่สูงเอาๆ และเริ่มซึม ทำเอาแม่ก้อยนั่งไม่ติดเลยค่ะ แม่ก้อยและพี่ใหญ่พาพี่ตังเมไปหาคุณหมอ คุณหมอต้องแอดมิทพี่ตังเมไว้ทันที
การรักษาคุณหมอต้องให้ยาลดไข้สูงสำหรับเด็กเพราะไข้ของพี่ตังเมขึ้นสูงมากยาลดไข้ธรรมดาเอาไม่อยู่แล้ว แม้ว่าได้ยาลดไข้สูงและเช็คตัวเพื่อลดไข้ร่วมด้วย อาการของพี่ตังเม เมื่อได้ยาลดไข้แล้ว ไข้จะลงมาแต่ไม่มากเหลืออยู่ประมาณ 38.5 เป็นอย่างนี้ตลอด พอหมดฤทธิ์ของยาไข้ก็กลับมาสูงแตะที่ 40 อีกครั้ง ครั้งนั้นพี่ตังเมโดนเจาะมือให้น้ำเกลือ ตรวจปัสสาวะ และเจาะเลือดไปเพาะเชื้อด้วยน่าสงสารที่สุด
การเฝ้าไข้ของพี่ตังเมครั้งนั้นแม่ก้อยทุกลักทุเลมากค่ะ เนื่องจากอีก 6 วันแม่ก้อยก็ครบกำหนดผ่าคลอดน้องจีนแล้ว และพี่ตังเมก็ติดแม่ก้อยมากด้วย ความที่มีไข้สูงตลอดเวลาแม่ก้อยและพี่ใหญ่กลัวพี่ตังเมชักมากค่ะ ในช่วงที่พี่ตังเมนอนหลับแม่ก้อยและพี่ใหญ่ต้องช่วยกันนำเอาผ้าขนหนูผืนเล็กๆ มาชุบน้ำแล้วบีบให้หมาด มาวางบนหน้าผาก และค่อยๆเช็ดตัวตามซอกแขน-ขาอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าพี่ตังเมจะแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาล แต่แม่ก้อยก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย จะหวังเพิ่งพาคุณพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยพยาบาลตลอดทุกครั้งไม่ได้ เพราะมีเด็กป่วยในหวอดเยอะมาก ถึงขั้นเตียงไม่พอรองรับ
คุณหมอที่รักษาสงสัยว่าพี่ตังเมน่าจะเป็น ไข้ผื่นกุหลาย หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Reseolar infantum และบางคนเรียกว่า ไวรัสส่าไข้ จนถึงว่ามีบางคนก็เรียกว่า ออกหัดเทียม เพราะมีอาการคล้ายการออกหัดมาก คุณหมออธิบายว่าถ้าเป็นไข่ผื่นกุหลายจริง พี่ตังเมจะเริ่มมีจุดแดงๆ ขึ้นมาโดยไล่มาจากทางด้านบนของร่างกายก่อน ซึ่งผื่นแดงนี้จะเริ่มสังเกตุเห็นได้ในวันที่ 4 ของการมีไข้ เมื่อผื่นเริ่มแสดงออกมาแล้วไข้จะค่อยๆลดลงมาเอง เมื่อถึงจุดพีคของการออกผื่นเด็กจะตัวลายเหมือนตุ๊กแกทีเดียว แต่ไม่ต้องเป็นห่วงผื่นนี้จะหายไปเองหลังจากนั้น และจะไม่ทิ้งร่องรอยแผลเป็น
จากผลเลือดที่นำไปเพาะเชื้อก็ไม่พบเชื้อใดๆ ซึ่งแม่ก้อยก็อธิษฐานขอให้พี่ตังเป็นโรคไข้ผื่นกุหลาบด้วยเถอะ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 3 ของการมีไข้เป็นต้นมาแม่ก้อยคอยส่อง คอยสังเกตุร่างกายของพี่ตังเมตลอดก็ไม่เจอความผิดปกติอะไร จนกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 4 แม่ก้อยสังเกตุเห็นบริเวณหลังใบหูเริ่มมีจุดสีแดงเล็กๆ ขึ้นมา 2-3 จุด และเมื่อคุณหมอมาตรวจคุณหมออธิบายว่านี่คือผื่นกุหลาบที่กำลังขึ้น แม่ก้อยได้ยินแล้วดีใจเป็นที่สุด อย่างน้อยแม่ก้อยก็รู้แล้วว่าที่พี่ตังเมมีไข้สูงตลอดเวลานั้นเป็นเพราะอะไร และวงจรของไข้ผื่นกุหลาบเป็นอย่างไร
เกี่ยวกับไข้ผื่นกุหลาย หรือไวรัสส่าไข้ หรือออกหัดเทียม
- มักจะพบในเด็กเล็กตั้งแต่ทารก จนถึงเด็กอายุ 3 ขวบ
- ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรสกัน
- ระยะฟักตัวตั้งแต่ติดเชื้อ 7-14 วัน
- อาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้ไม่ค่อยลด ไม่มีอาการไอ จาม หรือเป็นหวัดร่วมด้วย
- ไข้สูงจะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 วัน วันที่ 4 ไข้จะเริ่มลดลงและเริ่มมีผื่นสีแดงออกมา
ข้อควรระวังเป็นอย่างยิ่งของเด็กที่ติดไวรัสไข้ผื่นกุหลาบ คือระวังเด็กชักเพราะไข้สูงมาก สิ่งที่ควรปฏิบัติคือพยายามลดไข้เด็กด้วยการทานยา ควบคุ่ไปกับการเช็ดตัวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย เสื้อผ้าที่สวมใส่ให้เด็กไม่ควรหนามากจนเกินไปเพราะจะทำให้อบได้
พี่ตังเมอยู่รอดูอาการต่ออีก 2 วันเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไข้ผื่นกุหลาบจริงๆ และแน่ใจว่าพี่ตังเมยอมทานอาหารแล้ว หลังจากที่ผื่นกุหลาบปรากฏตัวออกมา อาการไข้สูงก็ลดลงเรื่อยๆ ในทุกๆวัน สุดท้ายคุณหมอก็อนุญาติให้กลับบ้านได้พร้อมกับลวดลายสีแดงเต็มตัว