คอลัมน์นี้ขอข้ามสเต็ปไปเป็นคุณแม่ที่ตั้งท้องเรียบร้อยแล้วนะคะ ซึ่งคุณแม่มือใหม่ทุกคนควรฝากท้องกับคุณหมอสูตินารี ที่สำคัญการฝากท้องนั้นควรเป็นการฝากท้องอย่างมีคุณภาพด้วยเช่นกันค่ะ สำหรับคุณแม่ท่านใดที่ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรเรื่องการฝากท้อง หรือกังวลว่าตนเองเป็นคุณแม่ท้องเดี่ยว แล้วไม่กล้าไปฝากท้องกับคุณหมอ นาทีนี้ขอให้นึกถึงลูกในท้องเป็นสิ่งสำคัญค่ะ
คุณแม่สามารถไปที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาล ทั้งเอกชน และรัฐบาล และบอกเจ้าหน้าที่ไปได้เลยค่ะว่าต้องการมาฝากท้อง ถ้ามีชื่อคุณหมอในดวงใจอยู่แล้ว(สืบให้ดีก่อนนะคะ ว่าคุณหมอท่านทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลนี้หรือเปล่า) ก็บอกเจ้าหน้าที่ได้เลยว่าต้องการฝากท้องกับคุณหมอชื่อ-นามสกุลอะไร แค่นี้เองค่ะง่ายมาก แอบบอกไว้ค่ะ ฝากครรภ์ครั้งแรกคุณหมอไม่มีการตรวจภายใน ไม่ต้องกลัวค่ะ
สมมุติว่าคุณแม่ไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่มีคุณหมอในดวงใจทำงานอยู่ แต่บังเอิ๊ญบังเอิญที่โรงพยาบาลแห่งนั้นท่านมีคนไข้ในมือที่ต้องรับผิดชอบมากจนเกินลิมิตที่จะรับคนไข้ใหม่ได้อีก ให้คุณแม่ลองสอบถามพูดคุยกับคุณพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ หรือเสริซในอินเตอร์เนตว่าคุณหมอท่านนั้นออกตรวจที่โรงพยาบาลใดบ้าง และคุณแม่ก็ตามไปฝากท้องกับคุณหมอที่โรงพยาบาลนั้นได้ค่ะ
คราวนี้ขอวกกลับมาคำว่า ฝากท้องอย่างมีคุณภาพ มันเป็นอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร
ข้อ 1. การฝากท้องครั้งแรกกับคุณหมอก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงที่แม่ส่งผลต่อลูกในท้องได้ ทั้งกาย และใจ แม่ก้อยแนะนำว่าควรฝากท้องทันทีที่รู้ว่าตั้งท้องค่ะ อยู่ในมือคุณหมอเร็วเท่าไหร่ก็ลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจให้กับคุณลูก และคุณแม่ได้เร็วเท่านั้น
ข้อ 2. สมองของลูกเริ่มพัฒนาตั้งแต่คุณแม่ตั้งท้อง 8 สัปดาห์ จนถึงลูกอายุ 3 ขวบ ช่วงนี้คือนาทีทองที่คุณแม่จะช่วยให้ลูกมีการพัฒนาทางสมองได้อย่างสูงสุด อาหารที่คุณแม่รับประทานมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาหารที่มีไอโอดีนซึ่งเป็นตัวสร้าง ไทรอยด์ ฮอร์โมน ที่ใช้สำหรับการเจริญเติบโต และพัฒนาสมองของลูก ถ้าคุณแม่ไม่ได้รับสารไอโอดีที่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถสร้างไทรอยด์ ฮอร์โมนได้ และอาจส่งผลให้สมองของลูกไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ และเป็นโรคเอ๋อได้ รวมถึงการขาดไอโอดีนอย่างรุนแรง อาจทำให้แท้งลูก หรือลูกพิการได้เช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วการขาดไอโอดีของแม่มันน่ากลัวไม่น้อย ทำให้แม่ก้อยนึกถึงตอนที่ลูกของแม่ก้อยยังเป็นเบบี๋ คุณหมอจะนัดให้พาลูกไปหยอดไอโอดีน มันมีผลในเรื่องของการพัฒนาทางด้านสมองด้วยนี่เอง
เมื่อคุณแม่ไปฝากท้องกับคุณหมอแล้ว คุณหมอท่านจะช่วยดูแลเรื่องเหล่านี้กับคุณแม่ที่ตั้งท้องทุกท่านอย่างแน่นอนค่ะ ด้านคุณแม่เองก็สามารถดูแลตัวเอง และลูกในท้องด้วยการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน พวกกลุ่มอาหารทะเลทุกชนิด รวมถึงสาหร่ายทะเล ปลาทูก็มีนะคะ หาง่ายด้วย พวกนม นมวัว ไข่ น้ำมันตับปลา ผักใบเขียว หรือจะเป็นพวก ถั่ว งา ก็มีค่ะ
ข้อ 3. หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า วิตามินโฟลิก หรือ โฟเลต มีความสำคัญสำหรับลูกในท้องคือ เป็นสารอาหารที่ช่วยสร้างเซลล์ต้นกำเนิดของลูกในท้องนั่นเอง เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ จนเป็นตัวอ่อน ด้วยการสร้างระบบประสาท สมอง กระดูกสันหลัง
การทานวิตามินโฟลิกที่ให้ได้ผลมากที่สุดคือควรทานอย่างน้อย 1-2 เดือนก่อนที่คุณแม่จะตั้งท้องเพื่อให้ปริมาณของโฟเลตมีอยู่ในร่างกายของคุณแม่เพียงพอต่อการเติบโตของลูกในท้อง และเมื่อตั้งท้องแล้วก็ควรทานต่อเนื่องกันไปอีก 3 เดือนแรกของการตั้งท้องค่ะ ซึ่งจะช่วยลดความพิการแต่กำเนิดจากสาเหตุของหลอดประสาทไม่ปิดได้
มาถึงตรงนี้ทำให้แม่ก้อยคิดถึงตัวเอง ตอนที่แม่ก้อยอยู่ในช่วงพักท้องจากการแท้งลูก และเตรียมที่จะตั้งท้องลูกคนใหม่ อาจารย์หมอที่ดูแลแม่ก้อยบอกให้แม่ก้อยทางวิทตามินโฟลิกรอไว้ได้เลย วันละ 1 เม็ด จากนั้นพอท้องแล้ว อาจารย์หมอก็ให้ทานต่ออีกเพียงแค่ 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง ซึ่งแม่ก้อยได้ถามอาจารย์หมอว่า ที่บ้านแม่ก้อยก็มีวิตามินโฟลิกอยู่แล้วสามารถทานต่อไปได้หรือไม่ จำเป็นต้องซื้อจากโรงพยาบาลที่แม่ก้อยมาฝากท้องนี้ด้วยหรือไม่ อาจารย์หมอบอกว่าทานต่อได้เลยไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ซึ่งแม่ก้อยรู้สึกดีมากค่ะ เพราะแม่ก้อยซื้อมาจากคลังยาแถวบ้านเม็ดละ 1 บาทเท่านั้นเอง ประหยัดไปได้เยอะเลย อาจารย์หมอท่านน่ารักมากค่ะ ในทุกๆเรื่องไม่ใช่แค่เพียงเรื่องซื้อวิตามินโฟลิก
ร่างกายของคนไม่สามารถสร้างโฟเลตเองได้ งั้นเรามาดูอาหารที่มีโฟเลตกันบ้างค่ะ เช่นพวกตับ ผักใบเขียว คะน้า ผักโขม กวางตุ้ง และพวกผลไม้สดต่างๆค่ะ สามารถทานได้เลยใครชอบอะไรก็ทานอย่างนั้นเลยค่ะ
แม่ก้อยอยากให้คุณแม่ทุกคน มีความสุขทั้งกาย และใจ ตลอดช่วงระยะเวลาของการตั้งท้องนะคะ โชคดี มีความสุข ทั้งแม่และลูกค่ะ