ครั้งแรกที่แม่ก้อยรู้ตัวว่าตั้งท้อง แม่ก้อยรู้แต่ว่าต้องฝากท้องกับคุณหมอสูติ ซึ่งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกฝากท้องจากเพื่อนๆ มากมาย แต่สุดท้ายแล้วการตัด
สินใจเลือกฝากท้องกับคุณหมอสูติท่านไหนก็อยู่ที่แม่ก้อยเอง ซึ่งแม่ก้อยมีแนวทางพิจารณาอยู่ดังนี้ค่ะ
1.พิจารณาตัวเอง
รู้ว่าตัวเองก่อนว่าเป็นคนแบบไหน เช่น เป็นคนขี้วิตก กังวล ไม่ค่อยกล้าซักถาม ขี้อาย ชอบให้คุณหมอพูด คุณหมออธิบายมากๆ อยากให้คุณหมอให้เวลานานๆ ในแต่ละครั้งที่ตรวจ ถ้าเป็นคุณแม่แนวนี้แม่ก้อยแนะนำว่าไม่ควรเลือกฝากครรภ์กับกลุ่มคุณหมอคิวทอง เพราะคุณหมอที่อยู่ในกลุ่มนี้ต้องบริหารเวลาในการตรวจรักษาแต่ละคนมาก ถ้ามาใน Case ปกติ คุณหมอแทบไม่ค่อยได้พูดอะไรมาก ต้องถามถึงจะบอกหรืออธิบาย ดังนั้นคุณแม่อาจจะต้องศึกษาหรือสอบถามจากคนใกล้ตัวที่เคยฝากครรภ์กับคุณหมอมาก่อนว่า คุณหมอแต่ละท่านมีรูปแบบการตรวจแบบไหน หรือหากยังไม่มีคุณหมอในดวงใจ ลองเลือกโรงพยาบาลแล้วเข้าไปสอบถามกับคุณพยาบาลแผนกสูตินารีว่าต้องการคุณหมอที่มีลักษณะการตรวจแบบนี้ พอที่จะแนะนำคุณหมอท่านใดได้บ้าง
2.พิจารณาโรงพยาบาล หรือสถานที่ฝากครรภ์
ก่อนอื่นต้องบอกว่าการฝากครรภ์ไม่จำเป็นต้องไปฝากครรภ์กับคุณหมอสูติที่โรงพยาบาลเสมอไป คุณแม่สามารถฝากครรภ์กับคุณหมอสูติได้ที่คลินิก หรือสถานพยาบาล ที่คุณหมอสูติทำงานอยู่ได้ และเมื่อถึงเวลาต้องคลอดลูก คุณแม่ก็สามารถเลือกคลอดลูกได้ตามแต่ละโรงพยาบาลที่คุณหมอสูติประจำอยู่ หรือมีConnection ไว้ได้ถ้าเป็นกรณีฝากครรภ์แบบนี้คุณแม่มีโอกาสที่จะฝากครรภ์ หรือคลอดลูกกับโรงพยาบาลที่ไกลบ้านได้
กรณีที่คุณแม่มักจะต้องอยู่บ้านคนเดียว คุณพ่อบ้านต้องออกไปทำงาน หรือทำงานต่างจังหวัด และไม่มีคนอยู่เป็นเพื่อน โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ก็ไม่ควรไกลบ้านมากจนเกินไป หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ไปถึงโรงพยาบาลได้เร็ว และที่สำคัญคุณแม่ควรมีเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลไว้ด้วย ทั้งเบอร์ฉุกเฉิน และเบอร์ปกติ
3.พิจารณาเศรษฐกิจของครอบครัว
ปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่ายในการคลอดลูกแต่ละครั้ง สำหรับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง คุณแม่สามารถดาวน์บ้านได้ 1 หลังเลยทีเดียว และกรณีการคลอดลูกที่ไม่ปกติ เช่นคลอดก่อนกำหนด หรือต้องมีการรักษาลูกที่เพิ่งเกิดมาด้วยแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคุณแม่อาจจะซื้อรถหรูป้ายแดงได้เลยค่ะ
โรงพยาบาลของรัฐ ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัย และมีอาจารย์แพทย์ที่เก่งๆ หลายท่านประจำอยู่ หากครอบครัวที่สภาวะเศรษฐกิจปานกลาง แม่ก้อยคิดว่าโรงพยาบาลของรัฐก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี คุณแม่เองก็สามารถเพิ่มความมั่นใจได้อีก ด้วยการฝากครรภ์พิเศษกับคุณหมอสูติที่คุณแม่พิจารณาแล้ว แม่ก้อยคิดว่าวิธีนี้ช่วยประหยัดเงิน เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกเมื่อคลอดออกมาแล้วดีกว่าค่ะ
4.พิจารณาโรคประจำตัวที่คุณแม่เป็นอยู่
โรคหลาย โรคมีผลต่อการตั้งท้อง และพัฒนาการของลูกในท้องค่ะ แม่ก้อยเองเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษกินยารักษามา 3 เดือน อาการของโรงก็สงบลงจนถึงปัจจุบันค่ะ ที่ว่าอาการสงบเพราะคุณหมอที่แม่ก้อยรักษาอยู่นั้น ท่านบอกว่าโรคไทรอยด์รักษาไม่หายขาด มีแต่อาการสงบลงเท่านั้น แม่ก้อยก็หวังว่าจะสงบตลอดไป ดังนั้นพอแม่ก้อยรู้ตัวว่าท้อง แม่ก้อยพบคุณหมอ 2 ท่านเลยค่ะ คือหมอสูติ และหมอรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
โรคบางโรคก็มาแสดงช่วงคุณแม่ตั้งท้อง เช่นเบาหวาน ความดัน เป็นต้น เมื่อตรวจพบแล้วคุณแม่ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอสูติอย่างมีวินัยเพราะโรคเหล่านี้ส่งผลโดยตรงกับการตั้งครรภ์ และพัฒนาการของลูก หากเมื่อคลอดลูกแล้วโรคต่างๆเหล่านี้ก็จะหายไปจากคุณแม่ค่ะ
แม่ก้อยหวังว่าแนวทางทั้ง 4 ข้อนี้ สามารถช่วยให้คุณแม่มีกรอบในการพิจารณา เพื่อการฝากครรภ์ได้ชัดเจนขึ้นนะคะ